พระนิรฤติ : เทวดาผู้อารักษ์แห่งทิศหรดี


กลับมาเจอกันอีกครั้ง กับ เรื่องราวและสาระความรู้ดีๆ จากบล๊อค"ท่องแดนในฝันในอาเซียน" นะคะ มาครั้งนี้ไม่ได้มามือเปล่า เรานำสาระความรู้ดีๆมาฝาก จะเป็นเรื่องอะไรนั้นเชิญรับชมต่อไปได้เลยค่าาา👇
ที่มา:https://www.youtube.com
 นอกจากเราจะเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในดินแดนในฝันในอาเซียนแล้ว วันนี้มีสาระความรู้ดีๆอีกเรื่องมาฝากกัน นั่นก็คือเรื่อง "เทวดาประจำทิศ" ซึ่งตามความเชื่อของคนไทยนั้นมีความเชื่อว่าในทุกๆสิ่งนั้นจะมีเทวดาเป็นผู้ดูแลรักษา ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์นั้น จะมีเทวดาประจำทิศเป็นเทวดาผู้ที่รักษาโลกประจำทิศต่างๆ ซึ่งจะมีทั้งหมด 8 ทิศ
  • ทิศใหญ่  4 ทิศ  ได้แก่ พระอินทร์ เทวดาประจำทิศตะวันออก  พระยม เทวดาประจำทิศใต้  พระวรุณเทวดาประจำทิศตะวันตก และพระกุเวรเทวดาประจำทิศเหนือ
  • ทิศเฉียง 4 ทิศ  ได้แก่  พระอัคนี เทวดาประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้  พระอีสานเทวดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  พระพายเทวดาประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และ พระนิรฤติ เทวดาประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้   ซึ่งในวันนี้นั้น เราจะมาพูดถึง  พระนิรฤติ  เทวดาประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้กันนะคะ

พระนิรฤติ
ที่มา:http://srivaishnavism.redzambala.com
ประวัติความเป็นมา
พระนิรฤติ(Nirṛti) มีชื่อเรียกหลายชื่อได้แก่ พระไนรฤติ พระนริฤทติ พระเนรติ พระเนรดี พระนิรฤดี เป็นเทวดาประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือ อีกชื่อคือ หรดี เป็นบุตรของ Kaśyapaและ Surabhi ในมหากาพย์มหาภารตะ ได้กล่าวถึงว่าเป็น แม่ของความตายและความน่ากลัว เป็นมเหสีของอธรรมะ และมีบุตรชายที่ชั่วร้ายสามคน คือ ภยะ (ความกลัว) มหาภยะ(ความสยดสยอง) และมฤตยู(ความตาย)
ในอีกตำนานหนึ่ง พระนิรฤติ (Nirṛti) ถูกสร้างขึ้นโดยพระวิษณุ จากหน้าด้านที่มืด ส่วนพระลักษมีที่สร้างจากหน้าที่สว่าง  และบางตำนานก็บอกว่าท่านเป็นเจ้าแห่งโรคระบาดอีกด้วย

ลักษณะประจำตัว

 ตามคัมภีร์ยชุรเวทดำ กล่าวว่า พระองค์นั้นมีผิวกายสีคราม ทรงภูษาสีเหลือง   มีดาบเป็นอาวุธ  และมีพาหนะคือ รากษส  

ลักษณะทางประติมานวิทยา
นิยมทำเป็นรูปเทพเจ้า  บ้างก็เป็นรูปอสูร  ประทับบนรากษส  ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาประทับบนหลังม้าแทน และถือดาบเป็นอาวุธ  


งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง
ในศิลปะอินเดีย ชวา เขมร จะไม่นิยมสลักรูปเคารพพระนิรฤติมากนัก แต่ในศิลปะจาม สมัยหมีเซินในยุคราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 พบประติมากรรมพระนิรฤติบนแท่นประทับร่วมกับเทวดาประจำทิศองค์อื่นๆ  เนื่องจากเป็นเทวีแห่งความตายและความน่ากลัว จึงมีศิลปกรรมและประติมากรรมที่เกี่ยวกับพระนีิรฤติค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะบูชาในลัษณะภาพวาดและการสวดตามฤคเวท และในระยะหลังประติมากรรมที่สร้างเป็นลักษณะพระนิรฤติทรงมนุษย์ ซึ่งแตกต่างไปจากที่บันทึกไว้ในพระเวท
  
File:Guardians of the eight directions 05.JPG
ที่มา:https://vivaranastory.wordpress.com
              
             ส่วนในศิลปะเขมรนั้นไม่พบรูปพระนิรฤติในงานประติมากรรม ภาพสลักบนหน้าบัน ทับหลัง ในปราสาทหิน แต่พบเป็นรูปสลักนูนต่ำ ที่ปราสาทนครวัด อยู่บริเวณด้านเหนือปีกตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ"ศึกของเทพเจ้าและอสูร "และ "รูปสลักเทวดาประจำทิศ"ต่างๆซึ่งในนั้นมีรูป"พระนิรฤติที่ทรงรากษพ"   

ภาพสลักเทวดาประจำทิศต่างๆ
ที่มา:http://huexonline.com
รูปสลักในเรื่องราว"ศึกเทพเจ้าและอสูร"
ที่มา:http://oknation.nationtv.tv/
             ในสมัยอยุธยาตอนกลาง (พระเจ้าปราสาททอง) มาถึงยุคปลาย มีการนำรูปพระไนรฤติทรงรากษส มาจัดวางเป็น “ทวารบาล” ในงานศิลปะประดับบานประตู ในฐานะผู้มีอำนาจแห่งความตาย จึงถูกนำคติความเชื่อในอำนาจนั้นมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องพุทธสถาน เช่นที่พบจากวัดจำปา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

งานสลักไม้บนหน้าบันพระนิรฤติ
ที่มา:http://oknation.nationtv.tv/

              ในงานสลักไม้บนหน้าบัน ภาพพระนิรฤติ – ไนรฤติทรงรากษส เป็นภาพศิลปะในความนิยม ถูกนำมาใช้ประดับหน้าบันทางทิศตะวันตกคู่กับภาพของพระนารายณ์ทรงครุฑทางด้านหน้าทิศตะวันออก อย่างหน้าบันฝั่งตะวันตกของพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณารามและหน้าบันตะวันตกของวัดสระบัว จังหวัดเพชรบุรี 


ที่มา:http://oknation.nationtv.tv/
                   หน้าบันสลักไม้จากวัดแม่นางปลื้ม ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา  ซึ่ง ศุภศรุต,2561 กล่าวว่า จากองค์ประกอบศิลปะและคติความเชื่อนั้นรูปสลักนี้นั้นเป็นรูปพระนิรฤติทรงรากษส

                   อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากการตรวจสอบลักษณะศิลปะโดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ระบุว่างานสลักไม้น่าจะเป็นรูปของพระนารายณ์ไม่ใช่พระนิรฤติ

จากความเชื่อเรื่องเทวดาที่ปกป้องคุ้มครองสิ่งต่างๆนั้น ทำให้มีความเชื่อสิ่งต่างๆมากมาย รวมทั้ง ความเชื่อเรื่องเทวดาประจำทิศ ซึ่งความเชื่อนี้นั้นสามารถแสดงออกผ่านงานศิลปะมากมายหลายชนิด ซึ่งงานศิลปะนี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความคิด ความเชื่อ  วัฒนธรรมของคนเราได้อย่างหลากหลายมุมมอง  

🙏จบไปแล้วนะคะสำหรับเกร็ดความรู้ดีๆในเรื่องเทวดาประจำทิศ ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ไว้โอกาสหน้าจะนำเกร็ดความรู้ดีๆแบบนี้มาฝากนะคะ สำหรับสัปดาห์นี้ขอตัวก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ และขอบคุณสำหรับการติดตามบล๊อคท่องแดนในฝันในอาเซียนค่ะ 🙏

เอกสารอ้างอิง👇


ศุภศรุต.(2561).หน้าบัน “พระนิรฤติทรงรากษส” จากวัดแม่นางปลื้ม.สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2561,จากhttp://oknation.nationtv.tv

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.(2552).อัฐโลกบาล.สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2561,จากhttp://www.royin.go.th


human excellence.(2018).เที่ยวชมปราสาทเมอืงพระนคร เมืองเสียมราฐ.สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน2561,จากhttp://huexonline.com

krishna Bern Boonchuay.(มปป.).จากนิฤติถึงอลักษมี : พัฒนาการของแม่แห่งความโชคร้าย.สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน  2561,จากhttps://vivaranastory.wordpress.com/

vedanta.(n.d.).Iconography of the Vedic Deities.Retrieved November 15,2015,from http://srivaishnavism.redzambala.com









ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จากยุคหินเก่า....สู่หินใหม่...เปลี่ยนผ่านสู่ยุคอารยธรรม

อาณาจักรพยู: มรดกโลกอันล้ำค่าของเมียนมา